วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความคิดสร้างสรรค์กับการทำงานประจำ

               ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ยังทำงานประจำรับเงินเดือนมากน้อยตามความรู้และประสบการณ์ ซึ่งโดยมากในการทำงานนั้นเราก็ต้องมีการเรียนรู้ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ วิธีการแก้ปัญหา ให้งานแต่ละชิ้นนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ จนทำให้หลายคนคิดว่าวิธีการที่เราทำซ้ำๆเดิมๆ อยู่ทุกวันนั้นเป็นวิธีที่ดีและถูกต้องที่สุดแล้ว และอาจจะลืมตั้งคำถามว่าเราสามารถปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้อีกไหม
               โดยความเป็นจริงแต่ละหน้าที่และวิธีการที่องค์กรกำหนดให้เราทำนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการคิด ทดสอบ ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีในระดับหนึ่ง จนสามารถกำหนดให้พนักงานสามารถที่จะเดินตามวิธีการนั้นๆได้ คำว่าระดับหนึ่งนั้นถ้าเรามาพิจารณาดูจะพบว่าวิธีการที่เราปฏิบัติต่อหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองในแต่ละวัน ก็ยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงพัฒนาได้อีกมากมาย สิ่งสำคัญคือเราต้องกล้าที่จะคิดและคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาวิธีการที่ดีกว่าวิธีการเดิมๆที่เราเคยทำอยู่
               อย่าลืมว่าปัญหาที่เราเจอในงานทุกๆวันนั้นมันมีการฟักตัวและแปรเปลี่ยนตามปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง และการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเหล่านี้แหละที่จะทำให้วิธีการเดิมๆที่เราจัดการกับปัญหาเดียวกันนี้ไม่ได้ผลและล้าสมัย
               ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ จึงมีบทบาทที่สำคัญในการทำให้เราค้นพบกับวิธีที่ดีกว่าและสร้างผลงานให้เรามากกว่า การเรียนรู้และฝึกฝนที่จะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นจึงมีความจำเป็นพอๆหรืออาจจะมากกว่าการทำตามกรอบเดิมๆด้วยความเคยชิน
               วิธีการง่ายๆและประหยัดเวลาให้เราตั้งคำถามก่อนเลิกงานสัก 5-10 นาที ทบทวนถึงปัญหาต่างๆที่เจอมาแต่ละวัน โดยหยิบมาสักหนึ่งปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเรา
เช่น วันนี้เรามีปัญหายอดขายของผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งลดต่ำลงกว่าครึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์ หากเราจะแก้โดยวิธีเดิมๆ ที่เคยทำคือกลับไปหาเหตุผลที่จะสามารถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมยอดขายจึงตกโดยอาจจะอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงและมีข้อมูลเชิงตัวเลขมานำเสนออย่างสวยงาม ถ้าหากเราจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์เราต้องไม่ตอบคำถามเรื่องยอดขายตกเนื่องจากเศรษฐกิจเพราะมันจะทำให้เราหยุดคิดต่อเกี่ยวกับการแก้ปัญหายอดขายตกทันที แต่เราจะคิดต่อด้วยคำถามว่า มีวิธีการใดที่จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้บ้าง คำตอบอาจจะเป็น การอัดฉีดโปรโมชั่น, นำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์, เปลี่ยนแปลง Packaging, ออกสปอร์ต โฆษณา, ปรับปรุงสินค้าเพื่อเพิ่มช่วงอายุของลูกค้า, ลดราคา, จัดทำบัตรสมาชิกและสิทธิ์พิเศษ เป็นต้น
                วิธีการเดิมๆนั้นล้วนแต่เป็นผลผลิตทางความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต่อยอดความคิดเหล่านั้นด้วยการสร้างสรรค์วิธีการที่ดีกว่า ปรับปรุง พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นและเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Takt Time, Cycle Time และ Lead Time

วันนี้มีเพื่อนๆฝากถามเรื่อง Takt time, Cycle Time และ Lead Time มา ซึ่งผมก็จะขออนุญาติอธิบายให้คร่าวๆดังนี้นะครับ
Take time : คำว่า Takt เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า จังหวะ Takt time คือ เวลาในการผลิตงาน 1 ชิ้นที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละวันได้
มีสูตรคำณวนง่ายๆดังนี้คือ Takt time = เวลาที่ใช้ในการผลิตทั้งวัน (นาที)/ ความต้องการสินค้าในแต่ละวัน (หน่วยสินค้า) โดยเวลาที่ใช้ในการผลิตทั้งวันจะคิดเฉพาะช่วงเวลาเฉพาะที่ทำการผลิตชิ้นงานเท่านั้น ไม่รวม เวลาพัก, การประชุม, เวลาที่ใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักร
ตัวอย่าง โรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึงมีการทำงานเป็น 2 กะ กะละ 12 ชม. หรือเท่ากับ 1440 นาที ต่อวัน ในแต่ละกะจะมีช่วงเวลาพัก 60 นาที, ประชุม 30 นาที, บำรุงเครื่องจักร 30 นาที
ดังนั้นเราจะได้เวลาที่ใช้ในการผลิตทั้งวันเท่ากับ 1440 – (60X2) -( 30X2) – (30X2) = 1200 นาที
และช่วงนี้มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวน 100 คันต่อวัน ดังนั้น Takt time ก็จะเท่ากับ 1200 / 100 = 12 นาทีต่อคัน
แต่ในการนำสูตรคำณวนนี้ไปใช้งานจริงควรจะมีความเผื่อจากเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดเช่น เครื่องจักรเกิดหยุดกระทันหัน พนักงานทำงานผิดพลาด หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆที่ทำให้ตัวเลขเวลาที่ใช้ในการผลิตทั้งวันยิ่งลดน้อยลงไปอีก ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาตรงนี้เราจะใส่ค่าเผื่อไว้ประมาณ 10% ของค่า Takt time ที่คำณวนมาได้ขั้นต้น นั่นคือเราจะได้ว่า
Takt time ในการทำงานจริง = Takt time + (10% X Takt time) นั่นคือจากตัวอย่างที่กล่าวมาเราจะได้ Takt time ในการทำงานจริง = 12 + (10%X12) = 13.2 นาที
สรุป การผลิตรถยนต์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ 100 คันต่อวันได้เราต้องผลิตรถยนต์ออกมาให้ได้ 1 คันในทุกๆ 13.2 นาทีนั่นเอง
Cycle time คือ เวลาที่แต่ละกระบวนการใน line การผลิตซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละสถานีงาน
ความสัมพันธ์ของ Cycle time และ Takt time คือ Takt time จะเป็นค่าคงที่ค่าหนึ่งที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความต้องการของลูกค้า ส่วน Cycle time จะเป็นเวลาจริงที่แต่ละกระบวนการสามารถทำได้
จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ สมมุติว่า โรงงานผลิตรถยนต์มีกระบวนการผลิตทั้งสิ้น 3 กระบวนการ ซึ่งแต่ละกระบวนการมี Cycle time ดังนี้
กระบวนการที่ 1,2 และ 3 มี Cycle time = 15, 10 และ 11 นาที ตามลำดับ จากการคำณวนเราได้ Takt time = 13.2 นาที ดังนั้นกระบวนการที่ 2 และ 3 จึงไม่มีปัญหาเพราะ Cycle time ต่ำกว่าค่า Takt time
แต่กระบวนการที่ 1 มี Cycle time สูงกว่า Takt time ที่ 15-13.2 = 1.8 นาที ทำให้เกิดภาวะคอขวด (Bottle neck) และจะส่งผลให้การผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ 100 คัน / วันได้ ดังนั้นต้องทำการแก้ไขปรับปรุง Cycle time ของกระบวนการที่ 1 ให้ได้ Cycle time ที่ต่ำกว่า 13.2 นาทีให้ได้
Lead time คือระยะเวลาตั้งแต่รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าจนลูกค้าได้รับสินค้า เช่น การสั่งซื้อรถยนต์จะใช้ lead time ประมาณ 1- 6 เดือน ซึ่งตัวเลขนี้ก่อนที่จะสามารถแจ้งกับลูกค้าว่าการผลิตรถยนต์ให้ลูกค้า 1 คันหลังจากรับคำสั่งซื้อนั้นจะใช้ระยะเวลาหรือ lead time เท่าไหร่
เราต้องทราบว่า Cycle time ของแต่ละกระบวนการในการผลิตรถยนต์ของโรงงานนั้นมีค่าสูงสุดเท่าไหร่บนพื้นฐานของคุณภาพที่ดีที่สุด นั่นคือประสิทธิภาพในการผลิตไม่ได้ลดน้อยลงเนื่องจากการเพิ่มหรือลด Cycle time
และถ้าเรากลับไปดูค่า Takt time ก็จะพบว่า lead time จะเป็นตัวเข้าไปกำหนดค่าความต้องการของลูกค้่าต่อวัน นั่นคือเมื่อ Lead time มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงกับค่า Takt time ลดลงและถ้า Lead time ลดลงก็จะส่งผลให้ Takt time เพิ่มขึ้น เกิดเป็นจังหวะในการผลิตที่มีการไหลของผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า จึงสรุปได้ว่า Lead time จะเป็นตัวกำหนด Takt time และ Takt time ก็จะไปกำหนด Cycle time อีกที ดังนั้นตัวแปรทั้งสามจึงมีความสัมพันธ์กันตลอด

 

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การอ่านกับความสำเร็จในการลงทุน

                   เมื่อพูดถึงการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวกระบวนการที่สำคัญก่อนการตัดสินใจลงทุนนั่นคือการเสาะหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้นั่นคือการอ่านนั่นเอง ซึ่งเราสามารถแยกประเภทของการอ่านเพื่อการลงทุนได้ 2 ประเภทนั่นคือ
                   1.การอ่านเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา พัฒนาการด้านการลงทุนของมนุษย์นั้นมีสืบต่อกันมายาวนานนับร้อยปี และผ่านการลองผิดลองถูกมาหลากหลายรูปแบบทั้งสำเร็จและล้มเหลวจนแทบจะกล่าวได้ว่าถ้าเรากลับไปพลิกประวัติเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับรูปแบบการลงทุนต่างๆที่มีผ่านมาเท่ากับเราคงไม่สามารถศึกษามันได้ทั้งหมด นี่ยังไม่นับเวลาที่เรานำเอาวิธีการนั้นๆมาทดลองใช้ซึ่งกว่าจะหาตัวตนเจอเราคงใช้เวลาและเม็ดเงินที่เราหามาทั้งชีวิต และยังต้องแบกรับความเสี่ยงกับการลองผิดลองถูกอีกด้วย
                   เนื่องเพราะการลงทุนนั้นเปรียบเสมือนกระบวนการที่ผ่านการสั่งสมมานาน เราจึงควรเชื่อคนที่ปลายอุโมงค์มากกว่า สิ่งที่อยากจะแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่คืออยากให้ทุกท่านเสาะหาหนังสือที่อธิบายถึงแนวทางในการลงทุนในรูปแบบแตกต่างกันซึ่งมีหลากหลายในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือแปลจากต่างประเทศหรือหากใครมีทักษะด้านภาษาก็อาจจะหา Text book เกี่ยวกับการลงทุนมาอ่าน ทำความเข้าใจกับใจความสำคัญและวิธีการประเมินมูลค่าของหุ้น ในขณะเดียวกันก็ให้ถามตัวเองไปด้วยว่าตัวเราเหมาะที่จะลงทุนแนวไหน ตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดสำคัญเพราะมันจะเป็นคำถามที่ตัวเราเท่านั้นที่จะตอบตัวเองได้ดีที่สุดเนื่องเพราะปัจจัยหรือตัวแปรด้านต่างๆนั้น เช่น จำนวนเงินลงทุน สภาวะทางจิตใจ ความถนัดเฉพาะตัว วินัย สิ่งต่างๆเหล่านี้ตัวเราเท่านั้นเป็นผู้รู้ดีที่สุด
                    อย่างเช่นแนวทางการวิเคราะห์หุ้นของบรรดากูรูทั้งหลายก็แตกต่างกันไปเช่น ปีเตอร์ ลินซ์,
วอเรน บัฟเฟตต์, จอห์น เนฟ, ไมเคิล ไพรซ์, จอร์จ โซรอท, เบนจามิน เกรแฮม หากเป็นแนวหน้าของไทยก็คือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร เป็นต้น ในรายละเอียดจะพบว่าแม้จะเป็นการลงทุนระยะยาวหรือสั้นเหมือนกันนั้น ส่วนปลีกย่อยหรือ Road map ในการคัดเลือกหุุ้นของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ถ้าให้ผมแนะนำก็อยากจะบอกว่าอันไหนที่เราอ่านแล้วเราเข้าใจและมั่นใจว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้ก็ให้เลือกแนวทางนั้นแหละเป็นก้าวแรก
                    2.การอ่านเพื่อวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบไหน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นคือการเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณาอยู่ และสิ่งที่จะนำพาเราไปเข้าใจกับบริษัทได้ดีที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้น รายงานประจำปี และ งบการเงิน
                   พอพูดมาถึงตรงนี้หลายคนร้องยี้ เพราะมันเป็นการไปทำความเข้าใจกับตัวเลขและรายละเอียดของรายรับ ร่ายจ่าย กำไร ขาดทุน กระแสเงินสด ของแต่ละบริษัท แต่จริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้มันคือทักษะที่นักลงทุนทุกท่านต้องมีติดตัวไว้เพราะมันทำให้เรามองเห็นภาพรวมสุขภาพทางการเงินของบริษัทรวมทั้งเป็นตัวแปรที่เข้ามาชี้ชะตาเราว่าการลงทุนครั้งนี้เราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
อีกทั้งมันยังเป็นตัวที่ช่วยให้เราติดตามการดำเนินงานของบริษัทแต่ละไตรมาสเป็นอย่างดี และจะช่วยให้เราตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องโดยลดภาวะการตัดสินใจทางอารมณ์ที่ทำให้เราไขว้เขวได้เป็นอย่างดี
                    หลายคนอาจมีคำถามว่าราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวัน ถ้าหากมัวมานั่งอ่านหรือวิเคราะห์งบการเงินเห็นจะไม่ทันกิน ประเด็นนี้ผมไม่ปฏิเสธว่ามันเสียเวลา แต่นั่นมันเป็นการเสียเวลาสำหรับการเล่นพนันกับตลาดมากกว่า ไม่ใช่เป็นการเสียเวลากับการลงทุนนะครับ
                    ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการลงทุนแบบต่างๆหรือการวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้นนั้นผมตั้งใจว่าจะทยอยเขียนอธิบายให้เพื่อนๆใน Blog นี้ (เท่าที่ผมรู้) ในโอกาสต่อไป รอติดตามกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี VS ปฏิบัติ

              สุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ยังคงใช้ได้ดีกับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่บ้างก็ยึดและอิงหลักการตามตำราไปซะหมด ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรต้องหาข้อมูลยืนยันและที่สำคัญคือต้องพร้อม 100% ในทุกๆด้านก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจนส่งผลให้ไม่ได้เริ่มซักที วันนี้จึงขอพูดถึงความสำคัญและสอดคล้องระหว่างองค์ความรู้ด้านสถิติในกระบวนการผลิต(ทฤษฎี)กับการนำไปใช้งานจริง(ปฏิบัติ)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต
             ถ้าว่ากันด้วยทฤษฎีและตำรับตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพจะเห็นได้ว่ามีมากมายหลายร้อยเล่ม แต่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครอ่านและเข้าใจในเนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่มที่มีผู้เขียนหลากหลาย แต่มันขึ้นอยู่กับการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์และประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุดต่างหาก คำถามต่อไปคือแล้วเราจะทำอย่างไรละให้สามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดในเชิงลงมือทำจริง
             สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องแยกให้ออกก่อนคือการตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาในเชิงคุณภาพที่เราสามารถจะนำเอาเครื่องมือทางสถิติมาช่วยแก้ได้หรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงทาง หากคำตอบคือใช่ มันเป็นปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดจากตัวแปรหลักสี่ตัวที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นคือ คน เครื่องจักร วัสดุ และ สิ่งแวดล้อม ถือว่าเราแก้ปัญหาสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วหรือเรียกให้เท่ห์ๆว่า เรา Get to the point แล้ว จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาเลือกเอาองค์ความรู้ใดๆที่สามารถตอบโจทย์หรือเอาไปแก้ปัญหาทางคุณภาพที่เราเผชิญอยู่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็เปรียบเสมือนนายช่างที่ทำการเปิดกล่องเครื่องมือของตนเองออกมาและเลือกว่าจะหยิบค้อนหรือตะปูหรือไขควงเพื่อที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ แน่นอนที่สุดนายช่างคงไม่ต้องจำเป็นต้องหยิบเครื่องมือออกมาทั้งหมดซึ่งนี่แหละคือผลพวงของการนิยามปัญหาที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มแรก มันทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วและประหยัดแรง
             แน่นอนที่สุดเราคงไม่เอาค้อนไปขันนอตที่ติดอยู่ตามผนังหรือถ้าเราจะใช้มันคงจะไม่สามารถแก้อะไรได้ดีนัก เช่นกันเราก็คงไม่เครื่องมือต่างๆในเรื่องลีนเข้าไปแก้ปัญหาเชิงสถิติที่เรารู้กันดีว่า Six Sigma มันทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันหากเราเจอปัญหาเรื่องความสะอาดและความไม่เป็นระเบียบในที่ทำงานเราคงไม่เลือก Six Sigma หรือแม้กระทั่ง ลีน แต่เราสามารถแก้ได้ง่ายๆโดยผ่านทางกระบวนการ 5 ส. นั่นเอง
             สรุป นิยามปัญหาให้ชัดเจน เปิดกล่องเครื่องมือเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องใช้ทุกอย่าง กระบวนการ Six Sigma หรือแม้กระทั่ง Lean แต่ละแบบก็จะมี Road Map ของตัวเองอยู่ ถ้าหากเรายึดมั่นที่จะใช้ในทุกขั้นตอนของ Road Map นั้นเห็นทีคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี เช่น Road Map ของ Six Sigma ก็จะมี Defind Measure Analyze Improve และ Control ปัญหาที่สามารถแก้ได้โดยใช้ SPC หรือ Control Chart ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Control เราก็คงไม่ต้องไปเริ่มเดินตาม Road Map ตั้งแต่ Define นั่นเอง
                  

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สวัสดีครับ แนะนำตัวกันหน่อยดีกว่า

สวัสดีครับเพื่อนๆ Moo Story Blog
          ผมชื่อ ทรงพรต วงศ์ทอง เรียกว่า หมู ก็ได้ครับ ปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกรอาวุโสด้านการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต ที่บริษัท Western Digital หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนาม WD ครับ
          ก็ขออนุญาติแนะนำในส่วนประสบการณ์การทำงานมาสักหน่อยนะครับ ซึ่งผมมีประสบการณ์ในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสไดรฟ์มากว่า 10 ปี รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมของสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น(สสท)มากว่า 5 ปี ส่วนประสบการณ์ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นก็ผ่านการลงทุนด้วยตัวเองมากว่า 10 ปีเช่นกัน ผ่านทั้งลองผิดลองถูกเคยเป็นแมงเม่าขาดทุนมานับไม่ถ้วน จนมาลงเอยด้วยการลงทุนแบบเข้าร่วมทำธุรกิจหรือที่เรารู้จักกันดีว่าลงทุนระยะยาวนั่นแหละครับ
          จุดประสงค์ในการสร้าง Blog ของตัวเองก็เพื่อที่จะถ่ายทอด แลกเปลี่ยน ตอบคำถามข้อสงสัย
รวมไปทั้งช่วยเพื่อนๆหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในด้านต่างๆโดยจะแยกเป็น  3 หมวดดังนี้ครับ
          1. ด้านการควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตตั้งแต่อุตสาหกรรมย่อยในครัวเรือน ธุรกิจ SMEs รวมไปถึงองค์กรหรือบริษัทที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพของสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค
          2. ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น ในรูปแบบของการลงทุนระยะยาว(ไม่ขอตอบเรื่องการ Trade รายวัน หรือ Technical ครับ เพราะไม่ถนัด)
         3.นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
           ผมจะค่อยๆทยอยเขียน Blog ไปเรื่อยๆ โดยเนื้อหาก็จะวนเวียนอยู่ใน 3 เรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เก่งอะไรมากมายเพียงแต่อยากถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และเป็นสังคมเล็กๆที่แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกันด้วยความจริงใจ
และจะยังประโยชน์ให้เพื่อนๆหรือผู้ติดตาม Blog นี้นำความรู้นั้นไปแก้ปัญหาในการทำงานหรือการลงทุนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ต้องเสียเวลาไปลองผิดลองถูก ซึ่งอะไรที่ผมไม่ทราบจริงๆผมก็จะไปหาคำตอบมาให้ ส่วนอะไรที่ผมยังเข้าใจผิดหรือไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆก็ยินดีรับคำชี้แนะจากเพื่อนๆครับ
   
         หลักสูตรที่สอนประจำอยู่ที่ สสท. คือหลักสูตร "สร้างสรรค์ความคิด พิชิตปัญหาหน้างาน" และ "Statistic for Young Engineer" โดยรายละเอียดนั้น เพื่อนๆสามารถติดตามได้จากทางเวบไซด์ของ สสท. นะครับ ตามลิงค์นี้ http://www.tpif.or.th/2012/index.php (ใส่ชื่อหลักสูตรแล้วกด "ค้นหา" ครับ)