วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

LEAN

ระบบการผลิตแบบ Mass

                                                      ระบบการผลิตแบบ Lean
 
 

   Lean Manufacturing หรือ การผลิตแบบลีน มุ่งเน้นไปที่การลดเวลาและการใช้ทรัพยากรในกระบวนการและกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กรให้เหลือน้อยที่สุด โดยจะเน้นไปที่การกำจัด Waste (ความสูญเสีย) ในทุกรูปแบบ พื้นฐานของการผลิตแบบ lean เป็นการจัดการการบริหารกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้
     วิธีการที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตแบบ Lean มีหลากหลายวิธีอย่างเช่น Just in time(JIT), Kaizen, Total quality management (TQM),Total productive maintenance (TPM),Cellular manufacturing เป็นต้น
    จุดเริ่มต้นของการผลิตแบบ Lean มาจากประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริษัทโตโยต้า Lean manufacturing ยืนอยู่บนแนวคิดพื้นฐาน 3 อย่างคื
1) Muda หรือ Waste (ความสูญเสีย) คือสิ่งไม่ดีต้องกำจัด 
                 2) กระบวนการผลิตจะต้องเริ่มขึ้นเมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเท่านั้น (ถ้าลูกค้ายังไม่สั่งห้ามทำโดยเด็ดขาด)
                3) บริษัทต้องพัฒนาให้เกิดความสอดคล้องระหว่างคำสั่งซื้อและ Supplier ให้ต่อเนื่องมากที่สุดหรือเรียกว่าต้องทำให้เกิดการไหลของคุณค่าผลิตภัณฑ์ (Value stream) ในขณะเดียวกันต้องสามารถรักษาเสถียรภาพของคุณภาพและต้นทุนไว้ให้ได้
พื้นฐานสำคัญของการผลิตแบบ Lean คือ
 1) Just in time หรือรู้จักกันในชื่อ continuous product flow (การไหลอย่างต่อเนื่อง) หรือสามารถเรียกอีกอย่างว่า Single piece work flow (การไหลทีละชิ้น)
2) Continuous improvement หรือการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่องตลอดสายธารคุณค่า
3) เสริมสร้างบุคลากรให้มีทักษะหลายด้านเพื่อสามารถปฏิบัติงานได้หลากหลายหน้าที่และมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของบริษัทเป็นสำคัญ
ในบรรดาหลากหลายวิธีการต่างๆที่นำมาปรับปรุงระบบ lean พบว่า Continuous product flow เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจมากที่สุด ในบางสถานการณ์ถึงกับต้องมีการออกแบบสายการผลิตใหม่เพื่อให้สามารถลดเวลาในการรอคอยและ Motion(การเคลื่อนไหว)ระหว่างสถานีงานแต่ละจุดให้น้อยที่สุด ชุดเครื่องมือในการทำงานรวมถึงโต๊ะทำงานในแต่ละจุดจะต้องมีการจัดเรียงเกิดการไหลของผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุดและยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการผลิตอย่างต่อเนื่อง การจัดวางสายการผลิตแบบนี้เราเรียกว่า Cellular manufacturing
หัวใจสำคัญของ Lean คือการกำจัด Waste(ความสูญเสีย) ทุกรูปแบบ ประกอบด้วย
 1. Waiting การรอคอย
 2. การสะสมของสินค้าคงคลัง
 3.การเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง
 4.การผลิตที่มากเกินไป
 5. กระบวนการที่เกินความจำเป็น
 6.การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น
 7.ของเสีย
 
การทำให้เกิดการไหลอย่างต่อเนื่องในแต่ละสายการผลิตจะทำให้เกิดการกำจัด Waste ไปโดยอัตโนมัติ หลากหลายเทคนิคถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการผลิตทันที ที่มี Customer pull หรือ มีคำสั่งจากลูกค้า ในกรณีนี้รวมไปถึงความต้องการชิ้นงานจากสถานีงานถัดไปด้วยเช่นกัน
Kaizen เป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นกฎเหล็กในระบบลีนที่จะต้องทำ มันเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้องค์กรต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถหลากหลายและให้ความสำคัญกับทุกๆตำแหน่งเพื่อทำให้เกิด Zero inventories, Zero downtime. Zero paper, Zero defect และ Zero delay ทั่วทั้งองค์กร

ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการที่ทำ Lean คือ

 1. ลดความสูญเสีย ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนโดยตรง

2. Cycle time ลดลง

 3.ลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน

 4. ลดสินค้าคงคลังให้เหลือน้อยที่สุด

5. กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด

6.เพิ่มกระแสเงินสด

7.ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง

8.ตอบสนองลูกค้าได้ด้วยบริการที่ดีที่สุด

              และทุกอย่างที่กล่าวมาจะนำมาซึ่งผลกำไรที่ยั่งยืน
 
 
 
 

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

FMEA Overview


Failure Modes and Effects Analysis (FMEA) เป็นวิธีการระบุถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังสามารถประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาไปจนถึงการจัดลำดับผลกระทบของปัญหาและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก  
               ผลลัพท์จากการทำ FMEA เราจะได้ FMEA Table ซึ่งจะแสดงถึงระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหารวมทั้งแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก และสำหรับแนวทางป้องกันนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งวิธีที่มีอยู่แล้วหรือวิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่
             FMEA เป็นเครื่องมือทางการวิเคราะห์ที่ดีตัวหนึ่ง มันสามารถทำให้เราคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดล่วงหน้าได้  ผลจากการทำ FMEA กับกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์จะช่วยให้เราเข้าไปจัดการกับสาเหตุของปัญหาโดยตรง ซึ่งจะทำให้เราป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นไปเกิดที่ลูกค้า   การทำ FMEA จะส่งผลถึง Yield ที่ดีขึ้น, คุณภาพที่ดีขึ้น, กระบวนการมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และแน่นอนที่สุดทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้าของเรายิ่งขึ้น
ประเภทของ FMEA ที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันมีดังนี้
        1. Syetem FMEA   2. Design or Product FMEA     3. Process FMEA   4. Service FMEA  5.Software FMEA
ขั้นตอนในการทำ FMEA สามารถทำได้ตามลำดับดังนี้
         1.จัดตั้งทีมงาน
         2.ทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่จะทำ FMEA
         3. เขียนรายละเอียดของขั้นตอนของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการนั้นๆในรูปของแผนภูมิการไหล (Process flow)
         4. ใส่รายละเอียดใน FMEA Table
          5.ประเมินคะแนนใน FMEA Table ในแต่ละช่องพร้อมทั้งเรียงลำดับความสำคัญ
         6.สรุปวิธีการแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งลงมือปฎิบัติตามแนวทางนั้น โดยมุ่งไปที่การป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดซ้ำอีก
         7. ติดตามผลหลังจากลงมือแก้ไขปัญหาไปแล้ว
         8.Update FMEA ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
               จากการประเมินคะแนนใน FMEA Table เราจะได้ตัวเลขที่สำคัญมากตัวหนึ่งนั่นคือ RPN (Risk Priority Number) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละปัญหาทำให้เราสามารถเรียงลำดับได้ว่าควรจะแก้ปัญหาไหนก่อน-หลัง อย่างไร โดยที่   RPN = SEV X PF X DET  โดย SEV,PF และ DET เป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินคะแนนใน FMEA Table เบื้องต้น
                 อย่างที่รู้กันว่า FMEA จะถูกสรุปมาในรูปของตาราง ดังนั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ วิธีการ หรือกระทั่งเทคโนโลยีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ควรตระหนักว่า FMEA จะต้องมีการ Update หรือปรับปรุงตลอด โดยมีเกณฑ์หลักๆในการ Update ดังนี้                                                                        
              1. เมื่อมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการใหม่                                                       
              2. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่กระทบการใช้งานหลัก
              3. เมื่อผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการมีการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง
              4. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบกับการใช้งานเดิมของกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์
             5. เมื่อโดนลูกค้าร้องขอ
             6. เมื่อพบว่าการวิเคราะห์ FMEA มีความผิดพลาดตั้งแต่ต้น

องค์การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา(NASA) ทำ FMEA ก่อนส่งยานอวกาศออกไปสำรวจนอกโลกเป็นพันๆหน้ากระดาษ แล้วคุณจะไม่ลองใช้มันดูหรือครับ

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

เจาะยาง GR&R

              ในการควบคุมกระบวนการผลิตใดๆ ก่อนอื่นต้องทำคือการจัดการระบบการวัดให้มีความน่าเชื่อถือให้มากที่สุด และนี่เองทำให้เราต้องมาทำความรู้จักกับค่า GR&R
              GR&R เป็นตัวเลขที่แสดงถึงความสามารถในการวัด   โดยผู้ควบคุมต้องทำให้ค่า GR&R จากระบบการวัดนั้นๆให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากค่า GR&R ยิ่งสูงจะแสดงว่าระบบการวัดด้อยประสิทธิภาพส่งผลให้ข้อมูลที่ได้จากการวัดไม่น่าเชื่อถือ และจะส่งผลโดยตรงกับการตัดสินใจควบคุมกระบวนการผลิต
              GR&R เรียกสั้นๆว่าR&R ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. Repeatability และ 2. Reproducibility                                                                      
              1. Repeatability เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการอ่านซ้ำของเครื่องมือวัด โดยจะต้องใช้คนทำการวัดคนเดียว งานตัวเดียว บนสภาวะแวดล้อมเดียวกัน วัดซ้ำบนเครื่องมือวัดนั้นหลายๆครั้ง เพื่อดูว่าค่าที่ได้จ่ากการวัดแต่ละครั้งนั้นใกล้เคียงกันหรือไม่ เป็นการตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องมือวัด
              2. Reproducibility เพื่อที่จะดูว่าภายใต้สภาวะแวดล้อมเดียวกัน เครื่องมือวัดเครื่องเดียวกัน และชิ้นงานเดียวกัน แต่ทำการเปลี่ยนคนวัด ค่าที่วัดออกมาจะยังคงเชื่อถือได้หรือไม่ เป็นการตรวจเช็คประสิทธิภาพของคนวัด
              อย่างที่รู้กันในความเป็นจริง ไม่มีระบบการวัดหรือเครื่องมือวัดใดๆในโลกที่สามารถวัดได้ค่าเดิมตลอดเวลา มันจะมีความผันแปรอยู่ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรหลักๆ 5 อย่างคือ 1) มาตรฐาน 2) ชิ้นงาน 3) เครื่องมือ 4) คนวัด และ 5) สภาพแวดล้อม ในการปรับปรุงระบบการวัดให้มีความเชื่อถือได้มากที่สุดต้องไม่ละเลยตัวแปรสำคัญ 5 อย่างนี้ เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากการวัด(Measurement error) และส่งผลโดยตรงกับค่า Repeatability และ Reproducibility
มีความแปรปรวนอยู่ 3 อย่างที่ต้องทำความรู้จักในการทำความเข้าใจกับค่า GR&R จะประกอบด้วย
              1. EV (Equipment Variation) เป็นค่าความแปรปรวนของเครื่องมือ เกิดจากการวัดซ้ำหลายรอบของงานชิ้นเดิม คนวัดคนเดิม
              2. AV (Appraiser Variation) เป็นค่าความแปรปรวนของคนวัด เกิดจากการเปลี่ยนคนวัดหลายๆคน โดยใช้ชิ้นงานเดิม และเครื่องมือวัดเครื่องเดียวกัน
              3. PV (Part Variation) เป็นค่าความแปรปรวนของตัวงานที่เกิดจากระหว่างตัวงานหลายๆชิ้น
ดังนั้นในเชิงคณิตศาสตร์จะได้ว่า  R&R = EV + AV  และภาพรวมของความแปรปรวนในระบบการวัดทั้งหมดคือ...
                                        TV (Total Variation) = √ [(R&R)2 + PV2]
             สุดท้ายการสรุปค่า GR&R จะทำออกมาในรูปของเปอร์เซนต์ โดยสามารถนำสูตรต่อไปนี้ไปใช้ได้เลย
              1. %EV=(EV/TV)x100%                   
              2. %AV=(AV/TV)x100%
              3. %R&R=(R&R/TV)x100%                 
              4. %PV=(PV/TV)x100%
              ถ้า %R&R < 10% จะถือได้ว่าระบบการวัดมีความน่าเชื่อถือสูง ถ้า %R&R อยู่ระหว่าง 10% - 30% จะถือได้ว่าระบบการวัดพอจะยอมรับได้ แต่ถ้าหาก %R&R มากกว่า 30% จะไม่สามารถเชื่อถือระบบการวัดได้ ต้องทำการหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดนอกกรอบ ภาคปฏิบัติ

ดร.เอดเวิร์ดเดอโบโน นักจิตวิทยา ผู้คิดค้นวิธี "คิดแนวข้าง" (Lateral Thinking) ได้แนะนำว่า กระบวนการหาคำตอบสร้างสรรค์และความคิดใหม่ๆนั้นควรจะทำให้เหมือนกับว่าเรากำลังเรากำลังขุดหลุมอยู่ หากเราพยายามขุดหลุมเดิมให้ลึกลงไปเรื่อยๆเราก็จะไม่สามารถขุดหลุมใหม่ใหม่ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะถ้าหลุมเดิมเป็นคำตอบที่ผิดเราก็จะไม่พบกับทางออกที่สร้างสรรค์ได้เลย ตรงข้ามกับการคิดนอกกรอบซึ่งจะทำให้คุณขุดหลุมให้เยอะที่สุด ทุกครั้งที่ขุดหลุมใหม่ๆคุณก็จะได้ความคิดใหม่ๆขึ้นมา และหากมันไม่ใช่คุณก็ขุดหลุมใหม่ขึ้นมา แค่นั้นเอง
เคล็ดลับการคิดนอกกรอบ
1. ปฏิเสธคำตอบปัจจุบันที่มีอยู่ ให้ทำการตั้งคำถาม ข้อสงสัย กับคำตอบที่มีอยู่ในลักษณะเข้าไปโจมตีเพื่อที่จะสรรหาคำตอบใหม่มาทดแทน
2. โยงความคิดกับสิ่งที่น่าสนใจ ลองหยิบคำศัพท์จากพจนานุกรมมาสักคำ หรือสิ่งของที่เราสนใจมาสักชิ้น จากนั้นลองจินตนาการดูว่าเราคิดถึงอะไรบ้าง
3. ตั้งเป้าหมายจำนวนความคิด ลองกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเช่นเราจะสร้างสรรค์ความคิดจากปัญหานี้ 100 ความคิด และพยายามทำให้ได้ จากนั้นจึงค่อยคัดเลือกความคิดที่น่าสนใจมาวิเคราะห์ต่อไป
4. คิดต่างให้สุดขั้ว จากความคิดหรือคำตอบที่เรามีอยู่ ลองค้นหาความคิดที่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างกันอย่างสุดๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะใช้ความคิดนั้น แต่เพื่อเป็นหนทางกระตุ้นให้สมองค้นหาแนวคิดใหม่ๆ
5. อย่าใจร้อน ไม่ว่าไอเดียใหม่ๆมันจะดีหรือไม่ดี จงอย่าสรุปหรือตัดสินความคิดนั้นแม้มันจะดูแปลกประหลาด หรือเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

ทิ้งท้ายกันไว้สำหรับตอนนี้คือแม้ความคิดที่ดูน่าหัวเราะ หรือดูๆไปแล้วไม่น่าเป็นไปได้ ก็อย่าได้มองข้าม เพราะนั่นอาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำพาให้เราไปเจอคำตอบที่สร้างสรรค์ จำไว้ว่าความคิดโง่ๆนั้นมันเปรียบเสมือนขั้นบันไดหรือเส้นทางที่แปลกใหม่สุดท้ายแล้วเราจะประหลาดใจกับความสามารถทางการคิดของเราเอง

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

วิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ในตัวคุณ

              "ยูเรก้า" เสียงตะโกนลั่นของอาร์คีมิดิสขณะนั่งอยู่ในอ่างอาบน้ำ เขาค้นพบวิธีวัดปริมาตรของรูปทรงอิสระ เช่นเดียวกับเซอร์ ไอแซกนิวตัน ที่ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วงขณะเดินอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก่อนที่จะเราจะมาทำความรู้จักกับความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมต่่างๆ
              ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีวิธีดึงออกมาใช้งานได้มากน้อยแค้ไหน อีกอย่างเราจะเห็นว่า สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม การก่อสร้าง เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์แทบทั้งสิ้น เอาละ จากนี้เราจะมาดูกันว่าที่มาที่ไปรวมทั้งการจะทำให้ตัวเรานั้นผลิตความคิดสร้างสรรค์ออกมานั้นจะต้องทำอย่างไร
ขั้นตอนการเกิดความคิดสร้างสรรค์
                ปี 1926 แกรแฮม วอลลาส เป็นเจ้าของทฤษฏีการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่แพร่หลาย ได้แจกแจงขั้นตอนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ดังต่อไปนี้
                1. ขั้นเตรียมตัว เป็นกระบวนการมองภาพรวมของปัญหารวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลดิบมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ
                2. ขั้นฟักตัว ผ่านจากขั้นที่หนึ่ง เข้าสู่การใคร่ครวญ และพิจารณาถึงความลึกซึ้งของปัญหานั้นๆ
                3. ขั้นค้นพบทางแก้ ขั้นนี้เราอาจจะเรียกว่าขั้นปิ๊ง แว้บ!! ก็ได้ เป็นขั้นตอนการตระหนักรู้ถึงทางแก้ของปัญหาซึ่งอาจจะมีหลายๆทางเลือก
                4. ขั้นพิสูจน์ทางแก้ สุดท้ายแล้วเราจะค้นพบทางแก้ที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานั้นๆ รวมทั้งสรุปเผยแพร่สู่ผู้อื่นได้
เคล็ดลับในการผลิตความคิดสร้างสรรค์
                เส้นทางในการได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเปรียบไปก็เหมือนกับเราแล่นกระดานโต้คลื่น หรือไม่ก็รถไฟเหาะตีลังกา มันไม่ได้มีขั้นตอนที่เนิบนาบเชื่องช้าเหมือนเดินบนหลังเต่า แต่จะประกอบด้วยแรงผลักดัน ความตื่นเต้น ความท้าทาย และความทรหดอดทนของการใช้สมองอย่างยิ่งยวด(ขึ้นกับระดับความยาก - ง่ายของปัญหาด้วย) ลองนำเทคนิคต่างๆเหล่านี้ไปใช้กันครับ
                1. ความคิดสร้างสรรค์มีวัฏจักร ในวัฏจักรของความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ 1+1 แล้วจะเท่ากับ 2 เสมอไปเราไม่สามารถที่จะค้นพบคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างที่เกริ่นในตอนต้นถึงขั้นตอนของการเกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น จะต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะ การครุ่นคิด และพิจารณาถึงสภาพของปัญหาที่กำลังเผชิญ ในที่สุดเราก็จะเกิดประสบการณ์ ปิ๊ง แว้บ!! หรือพบหนทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาซึ่งนั่นก็เป็นเวลาที่เราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากความคิดของเรา
                2. ความกลัวคือเพื่อนที่ดีที่สุด แน่นอนในการก้าวสู่กระบวนการสร้างสรรค์นั้น เราหลีกหนีไม่พ้นที่จะเข้าไปเจอกับทางตัน ความไม่คุ้นเคย ความแปลกใหม่ แต่ขอให้เรายึดมั่นไว้ว่าความกลัวนั้นคือเพื่อนที่ดีที่สุดที่จะนำเราไปสู่เส้นทางของความสำเร็จในการคิดและคำตอบที่เราคาดไม่ถึง
                3. เปลี่ยนสถานที่คือการเปลี่ยนมุมมอง ยามใดที่เราคิดไม่ออก หรือไม่มีแรงดลใจในการผลิตความคิดใหม่ๆ ลองเปลี่ยนสถานที่ในการคิดครับ อาจย้ายจากโต๊ะทำงานประจำไปยังร้านกาแฟที่คุณชอบ หรือหนีไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ รับรองครับว่าวิธีนี้จะทำให้คุณมองปัญหาในมุมใหม่ๆได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
                4. กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ลองใช้ความไร้เดียงสาให้เป็นประโยชน์ หลายๆครั้งที่เราเห็นเด็กๆได้แสดงจินตนาการที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆนึกไม่ถึง นั่นคือพลังของความบริสุทธิ์และไร้กรอบของความคิด ในข้อนี้ให้เราทิ้งปัญหาที่เรากำลังคิดไม่ตกสักพักแล้วหันไปทำกิจกรรม หรือเล่นของเล่นที่เราเคยเล่นในวัยเด็ก เช่นปั่นจักรยาน ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี หรือเป่ากบ อะไรก็ได้ที่ทำให้เราดึงความไร้เดียงสาออกมาอีกครั้งจากนั้นค่อยกลับไปเริ่มงานคิดสร้างสรรค์กับโจทย์ของเรากันต่อ
                5. ความสมบูรณ์แบบคือศัตรูตัวฉกาจ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมก่อนเริ่มกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพราะนั่นคือสัญญาณของการคาดหมายเหตุการณ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งการันตีได้เลยว่าไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง และซ้ำร้ายรังแต่จะมัวทำให้เราผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆและที่สุดก็ไม่ได้เริ่มลงมือคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจังสักที
                6. เป้าหมายมีให้พุ่งชน ถ้อยคำจากสโลแกนโฆษณาชิ้นหนึ่งยังใช้ได้ดีเสมอเฉกเช่นกับคำพูดของไอน์สไตน์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ตั้งเป้าหมายไว้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะเป็นนั้นคืออะไร อย่าดูถูกพลังของความฝันหรือความหวัง วาดภาพไว้ว่าเราต้องการจะเป็นอย่างไรในอนาคต แล้วใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวนั้นเป็นแรงผลักดันไปให้ถึงจุดหมาย
               7. สมุดจดบันทึกคือตาข่ายดักปลาแห่งไอเดีย หาสมุดจดบันทึกพร้อมปากกาหรือดินสอ(ในสมัยนี้เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการโน้ตย่อได้) พกติดตัวไว้ตลอดเวลาแม้เวลานอนหลับ ไม่แน่ว่าไอเดียดีๆจะเกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็เป็นได้และการที่เราพลาดที่จะจดบันทึกไว้ก็จะเป็นการโยนความคิดที่มีค่านั้นทิ้งหายไปอย่างน่าเสียดาย
               ทิ้งท้ายขมวดไว้ ณ ที่นี้ก็คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นคือ"สมาธิ" จิตใจที่จดจ่อกับปัญหานั้นๆเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผลิตความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ๆที่อาร์คิมีดีสนอนแช่ในอ่างอาบน้ำก่อนค้นพบวิธีหาปริมาตรของรูปทรงอิสระ ไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ๆที่ไอน์สไตน์จะคิดค้นทฤษฏีสัมพันธภาพได้จากการคิดเพียงทฤษฏีเดียว และไม่ใช่ครัังเดียวแน่ๆที่โมซาร์ทจะคิดเพลงซิมโฟนีที่มีชื่อเสียงจากการแต่งเพลงเพียงครั้งเดียว ความพยายามพากเพียร อดทนและสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักคิดสร้างสรรค์ทุกๆคน ขอให้ผู้อ่านประสบความสำเร็จในการคิดสร้างสรรค์ทุกคนครับ





วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

สมองของเรา

              เมื่อกล่าวถึงอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุม สั่งการและประมวลผลทุกคนคงทราบดีว่าคืออะไร ถูกแล้วครับ !! วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ "สมอง" สมองของเรามีโครงสร้างทางกายภาพอย่างไรและประกอบด้วยอะไรกันบ้าง
             โดยเฉลี่ยสมองของคนเรา(ผู้ใหญ่) จะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กก. แบ่งออกเป็น 2 ซีก คือซีกซ้ายและซีกขวา โดยจะมี "คอร์ปัสคาโลซัม" เป็นตัวเชื่อมโยงและประมวลผลไปพร้อมๆกัน ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญๆด้วยกันนั่นคือ
             1.สมองส่วนท้ายทอย มีหน้าที่ควบคุมการมองเห็น
             2.สมองส่วนขมับ จะอยู่หลังหูทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่จัดการกับ เสียง คำพูด ความจำ รวมทั้งการตอบสนองทางอารมณ์
             3.สมองส่วนข้าง จะอยู่ด้านบนมีหน้าที่จัดการกับประสาทสัมผัส ความเจ็บปวด อุณหภูมิ และประมาณการเกี่ยวกับพื้นที่
             4. สมองส่วนหน้า จะอยู่หลังหน้าผากมีหน้าที่ ควบคุมประสาท การตัดสินใจ การแสดงออกทางสังคมและเรื่องเพศ
             ส่วนต่อมาที่เราจะพูดถึงกันนั่นคือ"เซลล์ประสาท" ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง เซลล์ประสาทนี่เองจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลโดยอาศัยสัญญาณเคมีไฟฟ้า และจะสนองตอบต่อการกระตุ้นในรูปแบบต่างๆเช่นการสัมผัส การเคลื่อนไหว และจะส่งข้อมูลของการกระตุ้นนั้นไปยังระบบประสาทกลางไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นสมองก็จะประมวลผลแล้วสั่งการให้อวัยวะต่างๆตอบสนองต่อการกระตุ้นนั้นๆนั่นเอง
             อย่างที่เรารู้กันแล้วว่าสมองของคนเรานั้นมีอยู่ 2 ซีก ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกันไปโดยซีกขวานั้นจะทำงานในเชิงรูปภาพ จินตนาการ พื้นที่ และความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม ส่วนซีกซ้ายนั้นจะเกี่ยวข้องกับตรรกกะ ตัวเลข ภาษา รายการสิ่งของ และการวิเคราะห์ โดยปกติแล้วคนเราแต่ละคนจะใช้สมองทั้งสองซีกไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง แต่ก็ไม่ถึงกับใช้เพียงซีกเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว เราแค่ใช้ซีกใดซีกหนึ่งมากกว่ากันเท่านั้น เนื่องจากโดยมากสิ่งต่างๆที่คนเราเผชิญจำเป็นที่จะต้องใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมๆกันนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความคิดสร้างสรรค์กับการทำงานประจำ

               ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ยังทำงานประจำรับเงินเดือนมากน้อยตามความรู้และประสบการณ์ ซึ่งโดยมากในการทำงานนั้นเราก็ต้องมีการเรียนรู้ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ วิธีการแก้ปัญหา ให้งานแต่ละชิ้นนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ จนทำให้หลายคนคิดว่าวิธีการที่เราทำซ้ำๆเดิมๆ อยู่ทุกวันนั้นเป็นวิธีที่ดีและถูกต้องที่สุดแล้ว และอาจจะลืมตั้งคำถามว่าเราสามารถปรับปรุงให้มันดีขึ้นได้อีกไหม
               โดยความเป็นจริงแต่ละหน้าที่และวิธีการที่องค์กรกำหนดให้เราทำนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการคิด ทดสอบ ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีในระดับหนึ่ง จนสามารถกำหนดให้พนักงานสามารถที่จะเดินตามวิธีการนั้นๆได้ คำว่าระดับหนึ่งนั้นถ้าเรามาพิจารณาดูจะพบว่าวิธีการที่เราปฏิบัติต่อหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองในแต่ละวัน ก็ยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงพัฒนาได้อีกมากมาย สิ่งสำคัญคือเราต้องกล้าที่จะคิดและคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาวิธีการที่ดีกว่าวิธีการเดิมๆที่เราเคยทำอยู่
               อย่าลืมว่าปัญหาที่เราเจอในงานทุกๆวันนั้นมันมีการฟักตัวและแปรเปลี่ยนตามปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง และการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเหล่านี้แหละที่จะทำให้วิธีการเดิมๆที่เราจัดการกับปัญหาเดียวกันนี้ไม่ได้ผลและล้าสมัย
               ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ จึงมีบทบาทที่สำคัญในการทำให้เราค้นพบกับวิธีที่ดีกว่าและสร้างผลงานให้เรามากกว่า การเรียนรู้และฝึกฝนที่จะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นจึงมีความจำเป็นพอๆหรืออาจจะมากกว่าการทำตามกรอบเดิมๆด้วยความเคยชิน
               วิธีการง่ายๆและประหยัดเวลาให้เราตั้งคำถามก่อนเลิกงานสัก 5-10 นาที ทบทวนถึงปัญหาต่างๆที่เจอมาแต่ละวัน โดยหยิบมาสักหนึ่งปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเรา
เช่น วันนี้เรามีปัญหายอดขายของผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งลดต่ำลงกว่าครึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์ หากเราจะแก้โดยวิธีเดิมๆ ที่เคยทำคือกลับไปหาเหตุผลที่จะสามารถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมยอดขายจึงตกโดยอาจจะอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงและมีข้อมูลเชิงตัวเลขมานำเสนออย่างสวยงาม ถ้าหากเราจะแก้ไขปัญหานี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์เราต้องไม่ตอบคำถามเรื่องยอดขายตกเนื่องจากเศรษฐกิจเพราะมันจะทำให้เราหยุดคิดต่อเกี่ยวกับการแก้ปัญหายอดขายตกทันที แต่เราจะคิดต่อด้วยคำถามว่า มีวิธีการใดที่จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้บ้าง คำตอบอาจจะเป็น การอัดฉีดโปรโมชั่น, นำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์, เปลี่ยนแปลง Packaging, ออกสปอร์ต โฆษณา, ปรับปรุงสินค้าเพื่อเพิ่มช่วงอายุของลูกค้า, ลดราคา, จัดทำบัตรสมาชิกและสิทธิ์พิเศษ เป็นต้น
                วิธีการเดิมๆนั้นล้วนแต่เป็นผลผลิตทางความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต่อยอดความคิดเหล่านั้นด้วยการสร้างสรรค์วิธีการที่ดีกว่า ปรับปรุง พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นและเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า