วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การอ่านกับความสำเร็จในการลงทุน

                   เมื่อพูดถึงการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวกระบวนการที่สำคัญก่อนการตัดสินใจลงทุนนั่นคือการเสาะหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้นั่นคือการอ่านนั่นเอง ซึ่งเราสามารถแยกประเภทของการอ่านเพื่อการลงทุนได้ 2 ประเภทนั่นคือ
                   1.การอ่านเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา พัฒนาการด้านการลงทุนของมนุษย์นั้นมีสืบต่อกันมายาวนานนับร้อยปี และผ่านการลองผิดลองถูกมาหลากหลายรูปแบบทั้งสำเร็จและล้มเหลวจนแทบจะกล่าวได้ว่าถ้าเรากลับไปพลิกประวัติเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับรูปแบบการลงทุนต่างๆที่มีผ่านมาเท่ากับเราคงไม่สามารถศึกษามันได้ทั้งหมด นี่ยังไม่นับเวลาที่เรานำเอาวิธีการนั้นๆมาทดลองใช้ซึ่งกว่าจะหาตัวตนเจอเราคงใช้เวลาและเม็ดเงินที่เราหามาทั้งชีวิต และยังต้องแบกรับความเสี่ยงกับการลองผิดลองถูกอีกด้วย
                   เนื่องเพราะการลงทุนนั้นเปรียบเสมือนกระบวนการที่ผ่านการสั่งสมมานาน เราจึงควรเชื่อคนที่ปลายอุโมงค์มากกว่า สิ่งที่อยากจะแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่คืออยากให้ทุกท่านเสาะหาหนังสือที่อธิบายถึงแนวทางในการลงทุนในรูปแบบแตกต่างกันซึ่งมีหลากหลายในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือแปลจากต่างประเทศหรือหากใครมีทักษะด้านภาษาก็อาจจะหา Text book เกี่ยวกับการลงทุนมาอ่าน ทำความเข้าใจกับใจความสำคัญและวิธีการประเมินมูลค่าของหุ้น ในขณะเดียวกันก็ให้ถามตัวเองไปด้วยว่าตัวเราเหมาะที่จะลงทุนแนวไหน ตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดสำคัญเพราะมันจะเป็นคำถามที่ตัวเราเท่านั้นที่จะตอบตัวเองได้ดีที่สุดเนื่องเพราะปัจจัยหรือตัวแปรด้านต่างๆนั้น เช่น จำนวนเงินลงทุน สภาวะทางจิตใจ ความถนัดเฉพาะตัว วินัย สิ่งต่างๆเหล่านี้ตัวเราเท่านั้นเป็นผู้รู้ดีที่สุด
                    อย่างเช่นแนวทางการวิเคราะห์หุ้นของบรรดากูรูทั้งหลายก็แตกต่างกันไปเช่น ปีเตอร์ ลินซ์,
วอเรน บัฟเฟตต์, จอห์น เนฟ, ไมเคิล ไพรซ์, จอร์จ โซรอท, เบนจามิน เกรแฮม หากเป็นแนวหน้าของไทยก็คือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร เป็นต้น ในรายละเอียดจะพบว่าแม้จะเป็นการลงทุนระยะยาวหรือสั้นเหมือนกันนั้น ส่วนปลีกย่อยหรือ Road map ในการคัดเลือกหุุ้นของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ถ้าให้ผมแนะนำก็อยากจะบอกว่าอันไหนที่เราอ่านแล้วเราเข้าใจและมั่นใจว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้ก็ให้เลือกแนวทางนั้นแหละเป็นก้าวแรก
                    2.การอ่านเพื่อวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบไหน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นคือการเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณาอยู่ และสิ่งที่จะนำพาเราไปเข้าใจกับบริษัทได้ดีที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้น รายงานประจำปี และ งบการเงิน
                   พอพูดมาถึงตรงนี้หลายคนร้องยี้ เพราะมันเป็นการไปทำความเข้าใจกับตัวเลขและรายละเอียดของรายรับ ร่ายจ่าย กำไร ขาดทุน กระแสเงินสด ของแต่ละบริษัท แต่จริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้มันคือทักษะที่นักลงทุนทุกท่านต้องมีติดตัวไว้เพราะมันทำให้เรามองเห็นภาพรวมสุขภาพทางการเงินของบริษัทรวมทั้งเป็นตัวแปรที่เข้ามาชี้ชะตาเราว่าการลงทุนครั้งนี้เราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
อีกทั้งมันยังเป็นตัวที่ช่วยให้เราติดตามการดำเนินงานของบริษัทแต่ละไตรมาสเป็นอย่างดี และจะช่วยให้เราตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องโดยลดภาวะการตัดสินใจทางอารมณ์ที่ทำให้เราไขว้เขวได้เป็นอย่างดี
                    หลายคนอาจมีคำถามว่าราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวัน ถ้าหากมัวมานั่งอ่านหรือวิเคราะห์งบการเงินเห็นจะไม่ทันกิน ประเด็นนี้ผมไม่ปฏิเสธว่ามันเสียเวลา แต่นั่นมันเป็นการเสียเวลาสำหรับการเล่นพนันกับตลาดมากกว่า ไม่ใช่เป็นการเสียเวลากับการลงทุนนะครับ
                    ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการลงทุนแบบต่างๆหรือการวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้นนั้นผมตั้งใจว่าจะทยอยเขียนอธิบายให้เพื่อนๆใน Blog นี้ (เท่าที่ผมรู้) ในโอกาสต่อไป รอติดตามกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี VS ปฏิบัติ

              สุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ยังคงใช้ได้ดีกับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่บ้างก็ยึดและอิงหลักการตามตำราไปซะหมด ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรต้องหาข้อมูลยืนยันและที่สำคัญคือต้องพร้อม 100% ในทุกๆด้านก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจนส่งผลให้ไม่ได้เริ่มซักที วันนี้จึงขอพูดถึงความสำคัญและสอดคล้องระหว่างองค์ความรู้ด้านสถิติในกระบวนการผลิต(ทฤษฎี)กับการนำไปใช้งานจริง(ปฏิบัติ)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต
             ถ้าว่ากันด้วยทฤษฎีและตำรับตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพจะเห็นได้ว่ามีมากมายหลายร้อยเล่ม แต่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครอ่านและเข้าใจในเนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่มที่มีผู้เขียนหลากหลาย แต่มันขึ้นอยู่กับการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์และประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุดต่างหาก คำถามต่อไปคือแล้วเราจะทำอย่างไรละให้สามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดในเชิงลงมือทำจริง
             สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องแยกให้ออกก่อนคือการตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาในเชิงคุณภาพที่เราสามารถจะนำเอาเครื่องมือทางสถิติมาช่วยแก้ได้หรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงทาง หากคำตอบคือใช่ มันเป็นปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดจากตัวแปรหลักสี่ตัวที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นคือ คน เครื่องจักร วัสดุ และ สิ่งแวดล้อม ถือว่าเราแก้ปัญหาสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วหรือเรียกให้เท่ห์ๆว่า เรา Get to the point แล้ว จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาเลือกเอาองค์ความรู้ใดๆที่สามารถตอบโจทย์หรือเอาไปแก้ปัญหาทางคุณภาพที่เราเผชิญอยู่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็เปรียบเสมือนนายช่างที่ทำการเปิดกล่องเครื่องมือของตนเองออกมาและเลือกว่าจะหยิบค้อนหรือตะปูหรือไขควงเพื่อที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ แน่นอนที่สุดนายช่างคงไม่ต้องจำเป็นต้องหยิบเครื่องมือออกมาทั้งหมดซึ่งนี่แหละคือผลพวงของการนิยามปัญหาที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มแรก มันทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วและประหยัดแรง
             แน่นอนที่สุดเราคงไม่เอาค้อนไปขันนอตที่ติดอยู่ตามผนังหรือถ้าเราจะใช้มันคงจะไม่สามารถแก้อะไรได้ดีนัก เช่นกันเราก็คงไม่เครื่องมือต่างๆในเรื่องลีนเข้าไปแก้ปัญหาเชิงสถิติที่เรารู้กันดีว่า Six Sigma มันทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันหากเราเจอปัญหาเรื่องความสะอาดและความไม่เป็นระเบียบในที่ทำงานเราคงไม่เลือก Six Sigma หรือแม้กระทั่ง ลีน แต่เราสามารถแก้ได้ง่ายๆโดยผ่านทางกระบวนการ 5 ส. นั่นเอง
             สรุป นิยามปัญหาให้ชัดเจน เปิดกล่องเครื่องมือเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องใช้ทุกอย่าง กระบวนการ Six Sigma หรือแม้กระทั่ง Lean แต่ละแบบก็จะมี Road Map ของตัวเองอยู่ ถ้าหากเรายึดมั่นที่จะใช้ในทุกขั้นตอนของ Road Map นั้นเห็นทีคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี เช่น Road Map ของ Six Sigma ก็จะมี Defind Measure Analyze Improve และ Control ปัญหาที่สามารถแก้ได้โดยใช้ SPC หรือ Control Chart ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Control เราก็คงไม่ต้องไปเริ่มเดินตาม Road Map ตั้งแต่ Define นั่นเอง