วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดนอกกรอบ ภาคปฏิบัติ

ดร.เอดเวิร์ดเดอโบโน นักจิตวิทยา ผู้คิดค้นวิธี "คิดแนวข้าง" (Lateral Thinking) ได้แนะนำว่า กระบวนการหาคำตอบสร้างสรรค์และความคิดใหม่ๆนั้นควรจะทำให้เหมือนกับว่าเรากำลังเรากำลังขุดหลุมอยู่ หากเราพยายามขุดหลุมเดิมให้ลึกลงไปเรื่อยๆเราก็จะไม่สามารถขุดหลุมใหม่ใหม่ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะถ้าหลุมเดิมเป็นคำตอบที่ผิดเราก็จะไม่พบกับทางออกที่สร้างสรรค์ได้เลย ตรงข้ามกับการคิดนอกกรอบซึ่งจะทำให้คุณขุดหลุมให้เยอะที่สุด ทุกครั้งที่ขุดหลุมใหม่ๆคุณก็จะได้ความคิดใหม่ๆขึ้นมา และหากมันไม่ใช่คุณก็ขุดหลุมใหม่ขึ้นมา แค่นั้นเอง
เคล็ดลับการคิดนอกกรอบ
1. ปฏิเสธคำตอบปัจจุบันที่มีอยู่ ให้ทำการตั้งคำถาม ข้อสงสัย กับคำตอบที่มีอยู่ในลักษณะเข้าไปโจมตีเพื่อที่จะสรรหาคำตอบใหม่มาทดแทน
2. โยงความคิดกับสิ่งที่น่าสนใจ ลองหยิบคำศัพท์จากพจนานุกรมมาสักคำ หรือสิ่งของที่เราสนใจมาสักชิ้น จากนั้นลองจินตนาการดูว่าเราคิดถึงอะไรบ้าง
3. ตั้งเป้าหมายจำนวนความคิด ลองกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเช่นเราจะสร้างสรรค์ความคิดจากปัญหานี้ 100 ความคิด และพยายามทำให้ได้ จากนั้นจึงค่อยคัดเลือกความคิดที่น่าสนใจมาวิเคราะห์ต่อไป
4. คิดต่างให้สุดขั้ว จากความคิดหรือคำตอบที่เรามีอยู่ ลองค้นหาความคิดที่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างกันอย่างสุดๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะใช้ความคิดนั้น แต่เพื่อเป็นหนทางกระตุ้นให้สมองค้นหาแนวคิดใหม่ๆ
5. อย่าใจร้อน ไม่ว่าไอเดียใหม่ๆมันจะดีหรือไม่ดี จงอย่าสรุปหรือตัดสินความคิดนั้นแม้มันจะดูแปลกประหลาด หรือเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

ทิ้งท้ายกันไว้สำหรับตอนนี้คือแม้ความคิดที่ดูน่าหัวเราะ หรือดูๆไปแล้วไม่น่าเป็นไปได้ ก็อย่าได้มองข้าม เพราะนั่นอาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำพาให้เราไปเจอคำตอบที่สร้างสรรค์ จำไว้ว่าความคิดโง่ๆนั้นมันเปรียบเสมือนขั้นบันไดหรือเส้นทางที่แปลกใหม่สุดท้ายแล้วเราจะประหลาดใจกับความสามารถทางการคิดของเราเอง

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

วิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ในตัวคุณ

              "ยูเรก้า" เสียงตะโกนลั่นของอาร์คีมิดิสขณะนั่งอยู่ในอ่างอาบน้ำ เขาค้นพบวิธีวัดปริมาตรของรูปทรงอิสระ เช่นเดียวกับเซอร์ ไอแซกนิวตัน ที่ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วงขณะเดินอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก่อนที่จะเราจะมาทำความรู้จักกับความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมต่่างๆ
              ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีวิธีดึงออกมาใช้งานได้มากน้อยแค้ไหน อีกอย่างเราจะเห็นว่า สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม การก่อสร้าง เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์แทบทั้งสิ้น เอาละ จากนี้เราจะมาดูกันว่าที่มาที่ไปรวมทั้งการจะทำให้ตัวเรานั้นผลิตความคิดสร้างสรรค์ออกมานั้นจะต้องทำอย่างไร
ขั้นตอนการเกิดความคิดสร้างสรรค์
                ปี 1926 แกรแฮม วอลลาส เป็นเจ้าของทฤษฏีการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่แพร่หลาย ได้แจกแจงขั้นตอนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ดังต่อไปนี้
                1. ขั้นเตรียมตัว เป็นกระบวนการมองภาพรวมของปัญหารวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลดิบมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ
                2. ขั้นฟักตัว ผ่านจากขั้นที่หนึ่ง เข้าสู่การใคร่ครวญ และพิจารณาถึงความลึกซึ้งของปัญหานั้นๆ
                3. ขั้นค้นพบทางแก้ ขั้นนี้เราอาจจะเรียกว่าขั้นปิ๊ง แว้บ!! ก็ได้ เป็นขั้นตอนการตระหนักรู้ถึงทางแก้ของปัญหาซึ่งอาจจะมีหลายๆทางเลือก
                4. ขั้นพิสูจน์ทางแก้ สุดท้ายแล้วเราจะค้นพบทางแก้ที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานั้นๆ รวมทั้งสรุปเผยแพร่สู่ผู้อื่นได้
เคล็ดลับในการผลิตความคิดสร้างสรรค์
                เส้นทางในการได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเปรียบไปก็เหมือนกับเราแล่นกระดานโต้คลื่น หรือไม่ก็รถไฟเหาะตีลังกา มันไม่ได้มีขั้นตอนที่เนิบนาบเชื่องช้าเหมือนเดินบนหลังเต่า แต่จะประกอบด้วยแรงผลักดัน ความตื่นเต้น ความท้าทาย และความทรหดอดทนของการใช้สมองอย่างยิ่งยวด(ขึ้นกับระดับความยาก - ง่ายของปัญหาด้วย) ลองนำเทคนิคต่างๆเหล่านี้ไปใช้กันครับ
                1. ความคิดสร้างสรรค์มีวัฏจักร ในวัฏจักรของความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ 1+1 แล้วจะเท่ากับ 2 เสมอไปเราไม่สามารถที่จะค้นพบคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างที่เกริ่นในตอนต้นถึงขั้นตอนของการเกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น จะต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะ การครุ่นคิด และพิจารณาถึงสภาพของปัญหาที่กำลังเผชิญ ในที่สุดเราก็จะเกิดประสบการณ์ ปิ๊ง แว้บ!! หรือพบหนทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาซึ่งนั่นก็เป็นเวลาที่เราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากความคิดของเรา
                2. ความกลัวคือเพื่อนที่ดีที่สุด แน่นอนในการก้าวสู่กระบวนการสร้างสรรค์นั้น เราหลีกหนีไม่พ้นที่จะเข้าไปเจอกับทางตัน ความไม่คุ้นเคย ความแปลกใหม่ แต่ขอให้เรายึดมั่นไว้ว่าความกลัวนั้นคือเพื่อนที่ดีที่สุดที่จะนำเราไปสู่เส้นทางของความสำเร็จในการคิดและคำตอบที่เราคาดไม่ถึง
                3. เปลี่ยนสถานที่คือการเปลี่ยนมุมมอง ยามใดที่เราคิดไม่ออก หรือไม่มีแรงดลใจในการผลิตความคิดใหม่ๆ ลองเปลี่ยนสถานที่ในการคิดครับ อาจย้ายจากโต๊ะทำงานประจำไปยังร้านกาแฟที่คุณชอบ หรือหนีไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ รับรองครับว่าวิธีนี้จะทำให้คุณมองปัญหาในมุมใหม่ๆได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
                4. กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ลองใช้ความไร้เดียงสาให้เป็นประโยชน์ หลายๆครั้งที่เราเห็นเด็กๆได้แสดงจินตนาการที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆนึกไม่ถึง นั่นคือพลังของความบริสุทธิ์และไร้กรอบของความคิด ในข้อนี้ให้เราทิ้งปัญหาที่เรากำลังคิดไม่ตกสักพักแล้วหันไปทำกิจกรรม หรือเล่นของเล่นที่เราเคยเล่นในวัยเด็ก เช่นปั่นจักรยาน ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี หรือเป่ากบ อะไรก็ได้ที่ทำให้เราดึงความไร้เดียงสาออกมาอีกครั้งจากนั้นค่อยกลับไปเริ่มงานคิดสร้างสรรค์กับโจทย์ของเรากันต่อ
                5. ความสมบูรณ์แบบคือศัตรูตัวฉกาจ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมก่อนเริ่มกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพราะนั่นคือสัญญาณของการคาดหมายเหตุการณ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งการันตีได้เลยว่าไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง และซ้ำร้ายรังแต่จะมัวทำให้เราผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆและที่สุดก็ไม่ได้เริ่มลงมือคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจังสักที
                6. เป้าหมายมีให้พุ่งชน ถ้อยคำจากสโลแกนโฆษณาชิ้นหนึ่งยังใช้ได้ดีเสมอเฉกเช่นกับคำพูดของไอน์สไตน์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ตั้งเป้าหมายไว้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะเป็นนั้นคืออะไร อย่าดูถูกพลังของความฝันหรือความหวัง วาดภาพไว้ว่าเราต้องการจะเป็นอย่างไรในอนาคต แล้วใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวนั้นเป็นแรงผลักดันไปให้ถึงจุดหมาย
               7. สมุดจดบันทึกคือตาข่ายดักปลาแห่งไอเดีย หาสมุดจดบันทึกพร้อมปากกาหรือดินสอ(ในสมัยนี้เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการโน้ตย่อได้) พกติดตัวไว้ตลอดเวลาแม้เวลานอนหลับ ไม่แน่ว่าไอเดียดีๆจะเกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็เป็นได้และการที่เราพลาดที่จะจดบันทึกไว้ก็จะเป็นการโยนความคิดที่มีค่านั้นทิ้งหายไปอย่างน่าเสียดาย
               ทิ้งท้ายขมวดไว้ ณ ที่นี้ก็คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นคือ"สมาธิ" จิตใจที่จดจ่อกับปัญหานั้นๆเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผลิตความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ๆที่อาร์คิมีดีสนอนแช่ในอ่างอาบน้ำก่อนค้นพบวิธีหาปริมาตรของรูปทรงอิสระ ไม่ใช่ครั้งเดียวแน่ๆที่ไอน์สไตน์จะคิดค้นทฤษฏีสัมพันธภาพได้จากการคิดเพียงทฤษฏีเดียว และไม่ใช่ครัังเดียวแน่ๆที่โมซาร์ทจะคิดเพลงซิมโฟนีที่มีชื่อเสียงจากการแต่งเพลงเพียงครั้งเดียว ความพยายามพากเพียร อดทนและสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักคิดสร้างสรรค์ทุกๆคน ขอให้ผู้อ่านประสบความสำเร็จในการคิดสร้างสรรค์ทุกคนครับ





วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

สมองของเรา

              เมื่อกล่าวถึงอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุม สั่งการและประมวลผลทุกคนคงทราบดีว่าคืออะไร ถูกแล้วครับ !! วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ "สมอง" สมองของเรามีโครงสร้างทางกายภาพอย่างไรและประกอบด้วยอะไรกันบ้าง
             โดยเฉลี่ยสมองของคนเรา(ผู้ใหญ่) จะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กก. แบ่งออกเป็น 2 ซีก คือซีกซ้ายและซีกขวา โดยจะมี "คอร์ปัสคาโลซัม" เป็นตัวเชื่อมโยงและประมวลผลไปพร้อมๆกัน ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญๆด้วยกันนั่นคือ
             1.สมองส่วนท้ายทอย มีหน้าที่ควบคุมการมองเห็น
             2.สมองส่วนขมับ จะอยู่หลังหูทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่จัดการกับ เสียง คำพูด ความจำ รวมทั้งการตอบสนองทางอารมณ์
             3.สมองส่วนข้าง จะอยู่ด้านบนมีหน้าที่จัดการกับประสาทสัมผัส ความเจ็บปวด อุณหภูมิ และประมาณการเกี่ยวกับพื้นที่
             4. สมองส่วนหน้า จะอยู่หลังหน้าผากมีหน้าที่ ควบคุมประสาท การตัดสินใจ การแสดงออกทางสังคมและเรื่องเพศ
             ส่วนต่อมาที่เราจะพูดถึงกันนั่นคือ"เซลล์ประสาท" ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง เซลล์ประสาทนี่เองจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลโดยอาศัยสัญญาณเคมีไฟฟ้า และจะสนองตอบต่อการกระตุ้นในรูปแบบต่างๆเช่นการสัมผัส การเคลื่อนไหว และจะส่งข้อมูลของการกระตุ้นนั้นไปยังระบบประสาทกลางไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นสมองก็จะประมวลผลแล้วสั่งการให้อวัยวะต่างๆตอบสนองต่อการกระตุ้นนั้นๆนั่นเอง
             อย่างที่เรารู้กันแล้วว่าสมองของคนเรานั้นมีอยู่ 2 ซีก ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกันไปโดยซีกขวานั้นจะทำงานในเชิงรูปภาพ จินตนาการ พื้นที่ และความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม ส่วนซีกซ้ายนั้นจะเกี่ยวข้องกับตรรกกะ ตัวเลข ภาษา รายการสิ่งของ และการวิเคราะห์ โดยปกติแล้วคนเราแต่ละคนจะใช้สมองทั้งสองซีกไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง แต่ก็ไม่ถึงกับใช้เพียงซีกเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว เราแค่ใช้ซีกใดซีกหนึ่งมากกว่ากันเท่านั้น เนื่องจากโดยมากสิ่งต่างๆที่คนเราเผชิญจำเป็นที่จะต้องใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมๆกันนั่นเอง