วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี VS ปฏิบัติ

              สุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ยังคงใช้ได้ดีกับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่บ้างก็ยึดและอิงหลักการตามตำราไปซะหมด ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรต้องหาข้อมูลยืนยันและที่สำคัญคือต้องพร้อม 100% ในทุกๆด้านก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจนส่งผลให้ไม่ได้เริ่มซักที วันนี้จึงขอพูดถึงความสำคัญและสอดคล้องระหว่างองค์ความรู้ด้านสถิติในกระบวนการผลิต(ทฤษฎี)กับการนำไปใช้งานจริง(ปฏิบัติ)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิต
             ถ้าว่ากันด้วยทฤษฎีและตำรับตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพจะเห็นได้ว่ามีมากมายหลายร้อยเล่ม แต่ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครอ่านและเข้าใจในเนื้อหาของหนังสือแต่ละเล่มที่มีผู้เขียนหลากหลาย แต่มันขึ้นอยู่กับการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์และประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุดต่างหาก คำถามต่อไปคือแล้วเราจะทำอย่างไรละให้สามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดในเชิงลงมือทำจริง
             สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องแยกให้ออกก่อนคือการตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาในเชิงคุณภาพที่เราสามารถจะนำเอาเครื่องมือทางสถิติมาช่วยแก้ได้หรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงทาง หากคำตอบคือใช่ มันเป็นปัญหาด้านคุณภาพที่เกิดจากตัวแปรหลักสี่ตัวที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นคือ คน เครื่องจักร วัสดุ และ สิ่งแวดล้อม ถือว่าเราแก้ปัญหาสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วหรือเรียกให้เท่ห์ๆว่า เรา Get to the point แล้ว จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาเลือกเอาองค์ความรู้ใดๆที่สามารถตอบโจทย์หรือเอาไปแก้ปัญหาทางคุณภาพที่เราเผชิญอยู่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็เปรียบเสมือนนายช่างที่ทำการเปิดกล่องเครื่องมือของตนเองออกมาและเลือกว่าจะหยิบค้อนหรือตะปูหรือไขควงเพื่อที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ แน่นอนที่สุดนายช่างคงไม่ต้องจำเป็นต้องหยิบเครื่องมือออกมาทั้งหมดซึ่งนี่แหละคือผลพวงของการนิยามปัญหาที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มแรก มันทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วและประหยัดแรง
             แน่นอนที่สุดเราคงไม่เอาค้อนไปขันนอตที่ติดอยู่ตามผนังหรือถ้าเราจะใช้มันคงจะไม่สามารถแก้อะไรได้ดีนัก เช่นกันเราก็คงไม่เครื่องมือต่างๆในเรื่องลีนเข้าไปแก้ปัญหาเชิงสถิติที่เรารู้กันดีว่า Six Sigma มันทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันหากเราเจอปัญหาเรื่องความสะอาดและความไม่เป็นระเบียบในที่ทำงานเราคงไม่เลือก Six Sigma หรือแม้กระทั่ง ลีน แต่เราสามารถแก้ได้ง่ายๆโดยผ่านทางกระบวนการ 5 ส. นั่นเอง
             สรุป นิยามปัญหาให้ชัดเจน เปิดกล่องเครื่องมือเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยไม่ต้องใช้ทุกอย่าง กระบวนการ Six Sigma หรือแม้กระทั่ง Lean แต่ละแบบก็จะมี Road Map ของตัวเองอยู่ ถ้าหากเรายึดมั่นที่จะใช้ในทุกขั้นตอนของ Road Map นั้นเห็นทีคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี เช่น Road Map ของ Six Sigma ก็จะมี Defind Measure Analyze Improve และ Control ปัญหาที่สามารถแก้ได้โดยใช้ SPC หรือ Control Chart ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Control เราก็คงไม่ต้องไปเริ่มเดินตาม Road Map ตั้งแต่ Define นั่นเอง
                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น